กล้านรงค์ จันทิก เป็นสมาชิสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกิดเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2486 เป็นบุตรของนายยนต์ และนางศรีสว่าง จันทิก สมรสกับนางพันทิพา จันทิก มีบุตรธิดา 3 คน
นายกล้านรงค์ ได้รับการแต่งตั้งเป็น กรรมการ ป.ป.ช. จากประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549 และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
กล้านรงค์ จันทิก จบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ต่อจากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังจึงได้เข้าศึกษาจนสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตไทย และผ่านการศึกษาอบรมจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 36
กล้านรงค์ จันทิก เริ่มทำงานในขณะที่ยังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีชั้นปีสุดท้าย ในตำแหน่งลูกจ้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 จึงสามารถสอบเข้ารับราชการได้ในตำแหน่งวิทยากร สังกัดสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ต่อมาได้สอบเข้ารับราชการเป็นข้าราชการฝ่ายอัยการ แต่ไม่ผ่านการสอบสัมภาษณ์ ภายหลังจึงมารับตำแหน่งนิติกร ระดับ 4 งานบริการทรัพย์สิน กองธุรกิจเศรษฐกิจ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ในปี พ.ศ. 2518 และในปีเดียวกันจึงได้โอนย้ายไปอยู่สำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เลขานุการส่วนตัว หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี กระทั่งในปี พ.ศ. 2520 ได้โอนมาเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน ระดับ 4 กองสืบสวนสอบสวน 1 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการกองสืบสวนสอบสวน 1 ในปี พ.ศ. 2524 เป็นผู้อำนวยการกองสืบสวนสอบสวน 2 พ.ศ. 2529 และเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ในปี พ.ศ. 2540
ต่อมาได้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขึ้นแทนสำนักงาน ป.ป.ป. นายกล้านรงค์ จึงได้โอนย้ายมาสังกัดสำนักงาน ป.ป.ช. และได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) (6 มิ.ย.2542 - 24 ต.ค.2546) ภายหลังพ้นจากตำแหน่งแล้วได้สมัครเข้าเป็นกรรมการ ป.ป.ช. แต่ไม่ได้รับเลือกจากวุฒิสภา โดยได้รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแทน
ในปี พ.ศ. 2549 กล้านรงค์ ได้ร่วมลงนามทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2549 โดยอ้างอิงความตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และเป็นกรรมาธิการสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเกี่ยวกับทุจริต วุฒิสภา จนกระทั่งภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 จึงได้รับแต่งตั้งจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ให้ทำหน้าที่กรรมการ ป.ป.ช. จนกระทั่งครบวาระการดำรงตำแหน่งในกรณีมีอายุครบ 70 ปี เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556
คณะกรรมการ "มูลนิธิศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์" ได้มีมติมอบรางวัล "นักกฎหมายที่สมควรได้รับการยกย่อง ประจำปี 2546" ให้แก่ นายกล้านรงค์ จันทิก เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2546